เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันจันทร์ที่ ๘ มกราคม ๒๕๖๗

ในห้อง 'หลวงพ่อเล็ก วัดท่าขนุน' ตั้งกระทู้โดย iamfu, 8 มกราคม 2024.

สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้
  1. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,853
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,573
    ค่าพลัง:
    +26,418
    เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันจันทร์ที่ ๘ มกราคม ๒๕๖๗


     

    ไฟล์ที่แนบมา:

  2. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,853
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,573
    ค่าพลัง:
    +26,418
    วันนี้ตรงกับวันจันทร์ที่ ๘ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๖๗ เป็นวันคล้ายวันประสูติของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา กระผม/อาตมภาพลากกรรมฐานยาวเกิน ๒๐ ชั่วโมง เพราะว่าใน "เสบียงบุญ" ระบุไว้ว่า ถวายเป็นพระราชกุศลเนื่องในวันคล้ายวันประสูติของพระองค์ท่าน ประจวบกับวันนี้มีการปลุกเสกวัตถุมงคลที่วัดอุทยาน เท่ากับว่าได้เข้ากรรมฐานยาวเกิน ๒๔ ชั่วโมง..!

    การปลุกเสกวัตถุมงคลที่วัดอุทยานนั้น ตอนแรกพระครูวิโรจน์กาญจนเขต, ดร. ท่านบอกว่าเป็น "น้ำมันนวหรคุณ" ซึ่งจะว่าไปแล้ว ตำรานี้หลวงปู่สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) วัดระฆังโฆสิตาราม ท่านได้มาจากจังหวัดกำแพงเพชร ท่านทั้งหลายต้องไม่ลืมว่า เรามีโบราณสถานที่เป็นอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยและกำแพงเพชรอยู่

    แต่ความจริงน้ำมันนวหรคุณนั้น เราใช้น้ำมันหอมอะไรก็ได้ เสกด้วยบทพุทธคุณ บางท่านก็ย่อเหลือ อะ สัง วิ สุ โล ปุ สะ พุ ภะ แค่ ๙ คำ แต่ถ้าว่ากันตามตำราแล้ว ต้องว่า อิติปิ โสฯ เต็มบท แต่กระผม/อาตมภาพเองถนัดในการใช้บท อิติปิ โสฯ สวากขาโตฯ สุปฏิปันโนฯ ๓ ห้องพร้อมกัน ในเมื่อท่านบอกให้ใช้อิติปิ โสฯ เต็มทั้งบท จึงใช้ครบ ๓ ห้องไปเลย แล้วก็ว่าไป ๑๕ จบตามกำลังวัน ก็คือวันจันทร์วันนี้

    คำว่า "นวหรคุณ" หร ความเป็นใหญ่ พระคุณอันยิ่งใหญ่ ๙ ประการขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ประกอบไปด้วย

    อะระหัง เป็นผู้ไกลจากกิเลส ก็คือพระองค์ท่านสามารถชำระกิเลสจนหมดสิ้นไปจากใจ

    สัมมาสัมพุทโธ เป็นผู้ตรัสรู้ชอบได้ด้วยพระองค์เอง ไม่ใช่ว่าพระองค์ไม่มีครูบาอาจารย์ แต่ว่าครูบาอาจารย์สอนได้เฉพาะการปฏิบัติในเบื้องต้นเท่านั้น อย่างท่านครูวิศวามิตรสอนศิลปศาสตร์ ๑๘ ประการให้ หรือว่าอาฬารดาบส กาลามโคตร สอนกรรมฐานให้ถึงสมาบัติที่ ๗ คืออากิญจัญญายตนฌาน อุทกดาบส รามบุตร สอนกรรมฐานให้ถึงสมาบัติที่ ๘ คือ เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน
     
  3. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,853
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,573
    ค่าพลัง:
    +26,418
    แต่ว่าสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ยังจัดเป็นโลกิยฌานเท่านั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพิจารณาแล้วว่าไม่ใช่ทางหลุดพ้น แต่เป็นการหนีกิเลสแค่ชั่วคราว จึงได้พินิจพิจารณาดู จนกระทั่งเห็นวงจรการเกิดการดับของ กิเลส กรรม วิบาก ก็คือ ตราบใดที่ยังมีกิเลส รัก โลภ โกรธ หลง อยู่ สิ่งที่เราคิด สิ่งที่เราพูด สิ่งที่เราทำ ก็จะโดนชักนำด้วยอำนาจของกิเลส เรียกว่ากรรม เมื่อกระทำกรรมไปแล้ว ก็ย่อมมีผลตอบสนองมา คือวิบาก เราจะต้องการหรือไม่ต้องการ เมื่อทำแล้ว ย่อมได้รับผลตอบแทน ถ้าหากว่าภาษาของฟิสิกส์ เขาว่าเมื่อมีกิริยา ก็ต้องมีปฏิกิริยา

    คราวนี้ในเมื่อเราเอง ถ้าหากว่ากระทำกรรม ผลของกรรมหรือวิบาก ก็ส่งผลให้เราเกิดแล้วเกิดอีกไม่รู้จบ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้สืบสาวไปจนถึงต้นเหตุ ก็คืออวิชชา ความไม่รู้ หรือว่ารู้ไม่ทั่ว จึงเป็นปัจจัยให้เกิดสังขาร คือความนึกคิดปรุงแต่งขึ้นมา ในเมื่อมีความนึกคิดปรุงแต่งขึ้นมา ก็เกิดวิญญาณ คือความรู้สึก ในเมื่อมีความรู้สึก สิ่งที่เราจะรู้สึกได้ก็ต้องมีสิ่งอาศัย ก็คือนามรูป คือร่างกายนี้เอง

    ในเมื่อมีร่างกายนี้ขึ้นมา ก็ต้องมีอายตนะ คือเครื่องรับสัมผัสทั้ง ๖ อย่าง คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เมื่อมีอายตนะก็มีสัมผัส ก็คือตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นได้รส กายสัมผัส ใจครุ่นคิด ชอบก็เป็นราคะ ไม่ชอบก็เป็นโทสะ ก่อให้เกิดกิเลสทั้งคู่ เมื่อมีสัมผัสขึ้นมา ก็มีความรู้สึกสุขหรือทุกข์ หรือว่าไม่สุขไม่ทุกข์ขึ้นมา ในเมื่อมีความรู้สึกขึ้นมา เราก็จะหลีกในส่วนที่ไม่ชอบใจ ไปรับเอาสิ่งที่ชอบใจ สิ่งนั้นก็คือตัณหา คือความอยากก็เกิดขึ้น

    แต่คราวนี้ตัณหานั้นมีทั้ง ภวตัณหา อยากตรง ๆ และวิภวตัณหา อยากในสิ่งที่ตรงกันข้าม อย่างเช่นว่า
    ไม่อยากแก่ ไม่อยากเจ็บ ไม่อยากตาย แต่ว่าความจริงก็คืออยากจะไม่แก่ อยากจะไม่เจ็บ อยากจะไม่ตาย ขึ้นด้วยคำว่าไม่อยาก แต่เป็นความอยากเต็มที่เลย เขาถึงได้เรียกว่าวิภวะ ก็คือสภาพที่ตรงกันข้ามกับภวะ

    ในเมื่อมีตัณหาคือความอยากเกิดขึ้น ก็จะเกิดความยึดมั่นถือมั่น ที่เรียกว่าอุปาทาน ก็คือ กูชอบอันนี้ กูต้องการแบบนี้ กูไม่ชอบแบบนี้ กูผลักไสสิ่งนี้ เมื่อมีอุปาทาน คือความยึดมั่นถือมั่น ก็ต้องมีสิ่งให้ยึด ต้องมีสิ่งให้เกาะ เขาเรียกว่าภวะ หรือภพ ก็คือที่เกิด

    ในเมื่อมีที่เกิดก็ต้องเกิด ก็คือ ภะวะ ปัจจะยาชาติ ภพเป็นปัจจัยให้เกิด คราวนี้ก็ลากยาวเป็นหางรถไฟไปเลย ก็คือ แก่ เจ็บ ตาย ทุกข์ โศก ร่ำไร กระทบกระทั่งสิ่งที่ไม่ชอบใจ ได้รับสิ่งที่ไม่ชอบใจ ปรารถนาไม่สมหวัง สารพัดความทุกข์ประเดประดังเข้ามา
     
  4. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,853
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,573
    ค่าพลัง:
    +26,418
    องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงดับตั้งแต่อวิชชา ก็คือต้นเหตุ ซึ่งความจริงการดับนั้นจะเป็นการย้อนรอยถอยหลังไป ตามหลักธรรมที่เรียกว่าปฏิจจสมุปบาท เพียงแต่ว่ากระผม/อาตมภาพไม่มีเวลาอธิบายนาน เพราะว่าปฏิจจสมุปบาทถ้าจะว่ากันจริง ๆ รายละเอียดคงต้องว่ากันเป็นเดือน..! ต้องเอาแค่หยาบ ๆ คร่าว ๆ ดังที่ว่ามา

    ในเมื่อพระองค์ท่านเข้าถึงตรงนี้ จึงตรัสรู้ด้วยหลักธรรมที่พระองค์ท่านเข้าถึงเอง จนได้นามว่า สัมมาสัมพุทโธ คือ ตรัสรู้เองโดยชอบ เพราะว่าครูอื่น ๆ สอนไม่ถึงตรงนี้

    คุณข้อต่อไปคือ วิชชาจะระณะสัมปันโน เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยความรู้และความประพฤติที่ดีทั้งปวง ที่สมัยนี้ใช้คำว่า "ความรู้คู่คุณธรรม"

    สุคโต มีความหมายว่าไปดีแล้ว เอาสูงสุดเลยก็คือ พระองค์ท่านหลุดพ้นจากกองทุกข์ เข้าสู่พระนิพพานแล้ว ถ้าเอาระดับต่ำลงมา ที่พวกเราสัมผัสได้ก็คือ พระองค์ท่านไปที่ใดก็ตาม ก็จะมีแต่สิ่งที่ดีที่งามเกิดขึ้นในที่นั้น ถ้าหากว่าเราดูพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ก็จะเห็นว่า บางทีดินฟ้าอากาศแห้งแล้งแทบตาย พอพระองค์ท่านเสด็จไป ฝนก็ตก เหล่านี้เป็นต้น

    โลกะวิทู เป็นผู้รู้แจ้งโลก คำว่าโลกในที่นี้มีทั้งโอกาสโลก โลกก็คือโลกใบนี้และดวงดาวต่าง ๆ พระองค์ท่านรู้แจ้งแทงตลอดในอนันตจักรวาล สัตวโลก โลกคือหมู่สัตว์ ทุกภพ ทุกภูมิ ทุกหมู่ ทุกเหล่า ใครไปเกิดในสถานที่นั้นด้วยกรรมอะไร พระองค์ท่านรู้แจ้งเห็นจริงทั้งหมด และท้ายที่สุด สังขารโลก โลกคือสังขารร่างกายนี้ ที่จำเป็นจะต้องมองเห็นให้ชัดเจนว่า ประกอบไปด้วยความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่มีอะไรเป็นเราเป็นของเรา แล้วสละการยึดการเกาะออกไปเสีย

    อะนุตะโร ปุริสสะทัมมะสาระถิ ทรงเป็นสารถี ผู้ฝึกบุคคลที่ไม่มีใครฝึกได้ยิ่งไปกว่าพระองค์ท่านอีกแล้ว ในบาลีใช้คำว่า กุลบุตรผู้มีวาสนาจะเข้าถึงมรรคผล ที่องค์สมเด็จพระทศพลจะฝึกสอนไม่ได้นั้นไม่มี

    สัตถา เทวะมะนุสสานัง ก็คือพระองค์ท่านเป็นครูของทั้งมนุษย์และเทวดา

    พุทโธ เป็นผู้แจ้ง เป็นผู้ตื่นแล้ว จากอวิชชา ความมืดบอดทั้งปวง เป็นผู้เบิกบาน คือไม่มีสิ่งหนึ่งประการใดที่จะมาทำให้จิตของพระองค์ท่านเศร้าหมองได้

    ภะคะวา เป็นผู้จำแนกแจกธรรมอย่างหนึ่ง แปลว่าเป็นผู้มีโชคอย่างหนึ่ง คำว่าเป็นผู้จำแนกแจกธรรมในที่นี้ก็คือ หลักธรรมที่พระองค์ท่านพบเห็นว่ามีอยู่ตามธรรมชาตินี้ เอามาจัดหมวด จัดหมู่ บัญญัติขึ้นมา ให้เป็นบทเป็นตอน ทำของยากให้ง่ายแล้วนำมาสั่งสอนพวกเรา เหมือนกับนำมาแจกจ่ายให้ หรือแปลอีกความหมายหนึ่ง ภะคะวา แปลว่าผู้มีโชค ไม่ว่าเสด็จไปที่ใดก็ตาม มีแต่สิ่งดี ๆ มาสู่พระองค์อยู่เสมอ
     
  5. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,853
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,573
    ค่าพลัง:
    +26,418
    โบราณาจารย์จึงย่อหัวใจนวหรคุณทั้ง ๙ นี้ลงมาเป็นอักขระขึ้นมา ก็คือ

    อะ ได้แก่ อะระหัง

    สัง ก็คือสัมมาสัมพุทโธ แต่คราวนี้พอเขียนบาลีขอม ก็จะเป็น ส + อัง ได้แค่สังเท่านั้น เพราะว่าสัมมา ตัว ม.
    สะกด กับ ม. สระอา จะไปปรากฏอยู่อีกคำหนึ่ง

    วิ ก็คือ วิชชาจะระณะสัมปันโน

    สุ ก็คือ สุคโต

    โล ก็คือ โลกะวิทู

    อะ คือ อะนุตะโร ปุริสสะทัมมะสาระถิ

    สะ คือสัตถา เทวะมะนุสสานัง ซึ่งเขียนแบบเดียวกัน ก็คือขึ้นด้วย ส. คือ สะ ตัวหนึ่ง แล้วก็ตามด้วย ต.สะกด ซึ่งจะซ้อนอยู่ข้างล่างด้วย ถ.ถุง ใส่สระอา จึงเป็นคนละคำกัน

    พุ ก็คือ พุทโธ

    ภะ คือ ภะคะวา

    ถ้าหากว่าเราเข้าถึงเนื้อหาทั้งหลายเหล่านี้ มีความเลื่อมใสมากเท่าไร ความขลังความศักดิ์สิทธิ์ก็มีมากเท่านั้น

    จะเห็นได้ว่า สิ่งที่กระผม/อาตมภาพอธิบายมาคร่าว ๆ หยาบ ๆ นั้น เป็นสิ่งที่มนุษย์ทั่วไปเข้าถึงได้ยากเย็นแสนเข็ญมาก เป็นสิ่งที่ทั้งเป็นคุณสมบัติเฉพาะพระองค์ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อสรรพสัตว์ทั้งหลาย บาลีใช้คำว่าอัตตะหิตะ ก็คือประโยชน์ต่อพระองค์ท่านเอง กับ ปรหิตะ ก็คือประโยชน์ที่มีต่อผู้อื่น ก็คือสรรพสัตว์ทั้งหมด

    ดังนั้น..พระเดชพระคุณหลวงพ่อฤๅษีฯ วัดท่าซุงท่านถึงได้บอกไว้ว่า อรรถกถาจารย์ท่านเปรียบไว้ว่า พุทธคุณนั้น ถ้ามีพระพุทธเจ้าสองพระองค์บังเกิดขึ้น แล้วมาสอบถามกันว่า พุทธคุณนั้นมีอะไรบ้าง อธิบายกันเป็นเดือนเป็นปีก็ไม่จบ ท่านใช้คำว่า "ฝอยท่วมหลังช้าง" ก็คือเขียนใส่กระดาษวางไปเรื่อย จนสูงท่วมหลังช้าง ก็ยังไม่หมดความดีของพระพุทธเจ้าท่าน

    พวกเราทั้งหลาย โดยเฉพาะพระภิกษุสามเณร หรือว่าแม่ชี ที่จัดอยู่ในความเป็นนักบวช ต้องเข้าถึงให้ได้ในส่วนทั้งหลายเหล่านี้ ต้องวางกำลังใจให้ได้ว่า พุทธคุณนั้นมีอยู่ในทุกอณูของอากาศ เราระลึกถึงพระองค์ท่านเมื่อไร ก็สัมผัสได้ซึ่งพุทธคุณนั้น

    คราวนี้ที่เหลือก็แค่น้อมใจอัญเชิญพุทธคุณนั้นจะให้บรรจุลงที่ไหน นี่คือวิธีการปลุกเสกวัตถุมงคลที่ง่ายที่สุด ในเมื่อเราซักซ้อมทำบ่อย ๆ จนเกิดความคล่องตัว เกิดความมั่นใจขึ้น ต่อไปเราก็สามารถทำได้ทุกคน

    สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ สร้างพระในใจของเราให้เกิดขึ้น กำหนดใจเมื่อไร ก็เห็นภาพองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสว่างไสวอยู่ในร่างกายของเรา หรือว่ากลมกลืนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับเรา ถึงเวลาจะช่วยเหลือใคร หรือว่าต้องการจะบรรจุพลังลงในวัตถุใด ก็แค่กำหนดใจให้ภาพพระองค์ท่านครอบใส่สิ่งนั้นเท่านั้นเอง

    ถ้าสภาพจิตละเอียดพอ ได้ยินพระองค์ท่านบอกว่า "เต็มแล้ว" หรือ "พอแล้ว" ก็เป็นอันว่าจบแค่นั้น ถ้าสภาพจิตไม่ละเอียดพอ เราก็ภาวนาบท พุทธคุณ ธัมมคุณ สังฆคุณ ไป ยึดตามหลักโบราณ ก็คือว่ากันให้ครบตามกำลังวัน ถ้าเป็นวันศุกร์ก็มากหน่อย ต้องว่าถึง ๒๑ จบ..!
     
  6. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,853
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,573
    ค่าพลัง:
    +26,418
    สำหรับวันนี้ เมื่อกลับมาถึงปรากฏว่าท่านอาจารย์วิสุทธิ์ วรรณวงษ์ศิริ ซึ่งเป็นครูบาอาจารย์ท่านหนึ่งที่กระผม/อาตมภาพปรึกษาหารือเรื่องของเครื่องรางของขลังมาตลอด เพราะว่าท่านศึกษามาเกือบทั้งชีวิต ท่านได้ส่งลูกอม หลวงพ่อไล้ วัดเขายี่สารมาถวาย ๓๘ ลูก หลายลูกก็เป็นลูกอมที่หลวงพ่อไล้ท่านทำเป็นรูปพระ แล้วก็ตะกรุดมงคลโสฬส หลวงปู่กลิ่น วัดสะพานสูงอีก ๑๖ ดอก

    ท่านมักจะส่งของเหล่านี้มาเสมอ โดยใช้คำว่า "ขอชำระหนี้สงฆ์" บรรดาท่านที่เล่นพระเครื่องหรือวัตถุมงคล ไม่มั่นใจว่าตนเองจะไปเอาของสงฆ์จากกรุใดมาบ้าง เนื่องเพราะว่าสมัยก่อน ส่วนใหญ่แล้วก็สร้างวัตถุมงคลเพื่อสืบทอดอายุพระพุทธศาสนา บรรจุกรุเอาไว้ จนกลายเป็นของสงฆ์ แม้ว่าจะผ่านมาหลายมือ บุคคลที่จิตใจละเอียด ก็ยังระแวงอยู่ว่าอาจจะติดหนี้สงฆ์ ท่านก็เลยส่งมาให้กระผม/อาตมภาพอยู่ปีหนึ่งก็หลายครั้ง เพื่อขอชำระหนี้สงฆ์

    ในเมื่อมีของ ๆ ท่าน ส่วนใหญ่กระผม/อาตมภาพก็จะกำหนดราคาที่ต่ำกว่าท้องตลาดไว้มาก เพราะว่าท่านต้องการที่จะชำระหนี้สงฆ์ เดี๋ยวจะให้ไอ้ตัวเล็กเอาลงกระทู้ ใครต้องการก็ไปตามบูชาเอา ไม่ต้องราคาแพงเหมือนกับดอกที่กระผม/อาตมภาพหามาลงด้วยตนเอง

    สำหรับวันนี้ก็ขอเรียนถวายแก่พระภิกษุสามเณรของเรา และบอกกล่าวแก่ญาติโยมแต่เพียงเท่านี้

    พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
    เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน
    วันจันทร์ที่ ๘ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๖๗
    (ถอดจากเสียงเป็นอักษร โดย เผือกน้อย)
     
สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้

แชร์หน้านี้

Loading...