เรื่องเด่น การปฏิบัติธรรมนั้น หลัก ๆ เลยก็คืออานาปานสติ

ในห้อง 'หลวงพ่อเล็ก วัดท่าขนุน' ตั้งกระทู้โดย iamfu, 21 เมษายน 2020.

สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้
  1. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    20,118
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,594
    ค่าพลัง:
    +26,440
    93785638_3262998113750847_6140192676378574848_n.jpg

    การปฏิบัติธรรมนั้น หลัก ๆ เลยก็คืออานาปานสติ หรือลมหายใจเข้าออก เป็นสิ่งที่เราจะทิ้งไม่ได้ ถ้าเราไม่สามารถที่จะรักษาลมหายใจเข้าออกเอาไว้ได้ กองกรรมฐานใด ๆ ก็หาความทรงตัวไม่ได้เช่นกัน จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกครั้งในการปฏิบัติ เราต้องกำหนดดู กำหนดรู้ลมหายใจเข้าออกของเรา จนสมาธิทรงตัวตั้งมั่นเสียก่อน

    ยกเว้นว่าท่านที่ทำจนชำนาญแล้ว เพียงแค่ใจของเรานึก ก็จะเข้าสู่สมาธิในระดับที่เรากระทำได้ ถ้าอย่างนั้นก็จะง่ายและจะสะดวกกว่าผู้หัดใหม่ แต่ไม่ว่าจะเป็นผู้ใหม่หรือผู้เก่าก็ตาม เมื่อภาวนาไประยะหนึ่ง จะเกิดอาการในลักษณะที่ว่า อารมณ์ของเราเต็มแล้ว ไม่สามารถที่จะฝืนต่อไปได้ เหมือนอย่างกับว่าเราเดินไปจนสุดทาง ตรงหน้าของเราเป็นทางตัน ไปต่อไม่ได้แล้ว สภาพจิตก็จะค่อย ๆ เคลื่อน ค่อย ๆ คลายออกจากสมาธิที่ทรงตัวอยู่

    ตรงจุดนี้ทุกคนต้องระมัดระวังให้มากเข้าไว้ เพราะทันทีที่สภาพจิตคลายออกมาสู่อุปจารสมาธิ ให้เรารีบหาวิปัสสนาญาณให้สภาพจิตของเรานึกคิดพิจารณา ถ้าไม่เช่นนั้นแล้วสภาพจิตของเราจะฟุ้งซ่านไปหา รัก โลภ โกรธ หลง ซึ่งจะฟุ้งซ่านได้อย่างเป็นงานเป็นการ เป็นหลักเป็นฐาน และดึงกลับได้ยาก เพราะว่าสภาพจิตของเราได้กำลังจากสมาธิที่เราปฏิบัติ แต่แทนที่จะเอาไปพินิจพิจารณาในวิปัสสนาญาณ กลับเอาไปฟุ้งซ่านเพราะได้กำลังจากสมาธิของเราเอง การที่เราจะยื้อยุดให้สภาพจิตหยุดฟุ้งซ่าน ก็เป็นไปได้ยากอย่างยิ่ง

    วิปัสสนาญาณซึ่งเหมาะสมที่เราจะพินิจพิจารณานั้น ก็ขึ้นอยู่กับความถนัดและความชำนาญของเรา ไม่ว่าจะเป็นการพิจารณาในสภาพของขันธ์ ๕ อายตนะ ๑๒ ก็คือตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ธรรมารมณ์ ธาตุ ๑๘ อินทรีย์ ๒๒ อริยสัจ ๔ หรือปฏิจสมุปบาทก็ตาม สิ่งทั้งหลายเล่านี้ ให้เรามองให้เห็นชัดว่า มีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ถ้าเราไปยึดมั่นถือมั่นก็ก่อให้เกิดทุกข์ เพราะไม่มีอะไรเป็นตัวตน เป็นเรา เป็นของเราที่แท้จริง

    หรือจะดูในลักษณะของอริยสัจ ๔ คือประกอบไปด้วยความทุกข์ ในเมื่อประกอบไปด้วยความทุกข์ ถ้าเราหาสาเหตุเจอว่าความทุกข์นั้นเกิดจากอะไร เราละเว้นจากการสร้างเหตุนั้น ๆ เสีย ทุกข์ก็ไม่เกิดกับเรา หรือจะดูในลักษณะของวิปัสสนาญาณทั้ง ๙ ก็คือดูการเกิดการดับ ดูเฉพาะการดับ ดูให้เห็นว่าเป็นโทษเป็นภัย ดูให้เห็นว่าเป็นของน่าเบื่อหน่าย ดูให้เห็นว่าเป็นของที่ควรจะไปเสียให้พ้น แล้วพิจารณาเสาะหาทางที่จะไปให้พ้น สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ก็แล้วแต่ว่าท่านทั้งหลายจะชอบ จะถนัดในการพินิจพิจารณาแบบไหน ก็ให้เอากำลังของสมาธิที่เราทำได้ มาพิจารณาวิปัสสนาญาณแทน

    ตรงจุดไหนที่เราหมดสงสัย รู้แจ้งเห็นจริงแล้ว ก็น้อมจิตน้อมใจยอมรับว่า สิ่งนั้นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนไว้ถูกต้องอย่างแท้จริง เราจะน้อมมาประพฤติปฏิบัติตามเพื่อรักษาสภาพจิตของเราให้ผ่องใสไว้เสมอ

    ในส่วนของการพินิจพิจารณา ถ้าหากรู้สึกว่าสภาพจิตของเราเริ่มเลือนราง กำลังไม่เพียงพอที่จะพิจารณาต่อ ก็ให้กลับไปหาการภาวนาใหม่ หรือว่าบางท่านพินิจพิจารณาจนอารมณ์ใจทรงตัว ย้อนกลับไปเป็นการภาวนาอีกครั้ง ก็ให้จับการภาวนานั้นต่อไป จนกระทั่งอารมณ์ใจของเราไปถึงที่สุด คือจุดที่เต็มหรือว่าตันของเรา ก็ค่อย ๆ ขยับขยายเคลื่อนคลายออกมา แล้วพิจารณาใหม่ ถ้าทำสลับไปสลับมาทำอย่างนี้ ความก้าวหน้าในการปฏิบัติของเราก็จะเห็นได้ชัดเจน

    ลำดับต่อไปก็ให้ทุกท่านตั้งใจภาวนาและพิจารณาตามอัธยาศัย จนกว่าจะได้รับสัญญาณบอกว่าหมดเวลา

    พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
    เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน ณ บ้านวิริยบารมี
    วันอาทิตย์ที่ ๓๑ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๕๙

    ที่มา : www.watthakhanun.com
     
สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้

แชร์หน้านี้

Loading...