เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันอังคารที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๗

ในห้อง 'หลวงพ่อเล็ก วัดท่าขนุน' ตั้งกระทู้โดย iamfu, 26 พฤศจิกายน 2024.

สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้
  1. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    20,072
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,592
    ค่าพลัง:
    +26,437
    เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันอังคารที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๗


     

    ไฟล์ที่แนบมา:

  2. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    20,072
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,592
    ค่าพลัง:
    +26,437
    วันนี้ตรงกับวันอังคารที่ ๒๖ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๖๗ ภารกิจสำคัญของกระผม/อาตมภาพในวันนี้ก็คือ การเข้าร่วมประชุมพระสังฆาธิการในระดับเจ้าคณะอำเภอ รองเจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะตำบล และเลขานุการ ในเขตปกครองคณะสงฆ์อำเภอทองผาภูมิ และร่วมงานติดตามตรวจเยี่ยมเพื่อประเมินผลโครงการวัด ประชา รัฐ สร้างสุข ในระดับหน ที่วัดปรังกาสี หมู่ที่ ๓ ตำบลท่าขนุน อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี

    แต่ปรากฏว่าไปถึงแล้ว การประชุมกลายเป็นการจับกลุ่มสนทนากันเท่านั้น เพราะว่าทางด้านเจ้าหน้าที่ตรวจประเมินโครงการ วัด ประชา รัฐ สร้างสุขมาเร็วกว่าที่คิด เนื่องเพราะว่าอำเภอทองผาภูมิของเรานั้นไกลมาก สำหรับบุคคลอื่น จึงต้องเผื่อเวลาในการเดินทาง แม้แต่พระเดชพระคุณพระเทพปริยัติโสภณ, ดร. (ปัญญา วิสุทฺธิปญฺโญ ป.ธ. ๙) เจ้าคณะจังหวัดกาญจนบุรี ก็ยังมาถึงกันแต่เช้า แล้วคณะกรรมการตรวจประเมินในระดับหนก็ทยอยติดตามกันมา และมีการโทรศัพท์สอบถามเส้นทางกันเป็นระยะ

    คราวที่แล้วในการตรวจประเมินในระดับภาค ปรากฏว่าวัดปรังกาสีนั้นได้ที่ ๑ ในการตรวจประเมินของภาค ๑๔ รอบนี้จึงเป็นการแข่งขันกันใน ๖ ภาคของหนกลางว่า การตรวจประเมินรอบนี้คะแนนของใครจะสูงสุด ก็จะได้ที่ ๑ ของหนไปโดยปริยาย ซึ่งตรงนี้ต่างกับโครงการหมู่บ้านรักษาศีล ๕ ที่กระผม/อาตมภาพไปทำการตรวจประเมิน

    ไม่ทราบเหมือนกันว่าข้อมูลในการให้คะแนนของโครงการหมู่บ้านรักษาศีล ๕ ละเอียดกว่ากันหรือเปล่า ? จึงทำให้การตรวจประเมินนั้น เราสามารถที่จะยกเอาคะแนนของแต่ละแห่งที่ไป มาจัดเรียงกันตามลำดับมากน้อยของคะแนนที่ได้ ใครได้สูงสุด ถ้าหากว่าอยู่ในจังหวัดก็จะได้ที่ ๑ ระดับจังหวัดไป ใครได้สูงสุดในระดับภาค ก็จะได้ที่ ๑ ของภาคไป ใครได้สูงสุดในระดับหน ก็จะได้ที่ ๑ ของหนไป ไม่ต้องใช้เวลาในการตรวจประเมิน ๒ รอบ ๓ รอบ แบบโครงการวัด ประชา รัฐ สร้างสุขนี้

    คราวนี้โครงการวัด ประชา รัฐ สร้างสุขนั้น ต้องบอกว่าพระเถระเจ้าคณะปกครองท่านมองเห็นว่า วัดวาอารามหลายแห่งเข้า "เกียร์ว่าง" เพราะว่าการสร้างสุขตามหลัก ๕ ส. ก็คือ สะอาด สะสาง สร้างสุขนิสัย สร้างวินัย เหล่านี้เป็นต้น เท่ากับว่าให้พวกเราบริหารจัดการวัดให้สมกับที่เป็นวัดนั่นเอง พูดง่าย ๆ ว่า "ถ้าเจ้าอาวาสทุกรูปทำหน้าที่ของตนอย่างเต็มที่ ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องมีโครงการนี้ก็ได้..!"

    โดยเฉพาะท่านทั้งหลายต้องตีความคำว่า วัด ประชา รัฐ ซึ่งถ้าหากว่ากันแบบคร่าว ๆ ก็คือหน่วยงาน ๓ หน่วยงานด้วยกัน หลักสำคัญที่สุดก็คือประชา หรือว่าชาวบ้าน พูดง่าย ๆ ว่าถ้าสามารถทำให้ชาวบ้านเข้าวัดได้ วัดจะอยู่ได้ ถ้าไม่สามารถทำให้ชาวบ้านเข้าวัดได้ วัดก็จะอยู่ไม่ได้ กระผม/อาตมภาพเคยปรารภในการประชุมใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นระดับจังหวัด หรือว่าระดับภาคของพระสังฆาธิการแล้ว หลายวาระด้วยกันว่า "ให้หาทางแก้ไขในเวลาจัดงานของวัดแต่ละแห่งว่า ทำอย่างไรจะให้มีญาติโยมมามากกว่าพระ ?"
     
  3. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    20,072
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,592
    ค่าพลัง:
    +26,437
    ตรงนี้เป็นปัญหาใหญ่มาก เนื่องเพราะว่าถ้าหากว่ามีญาติโยมน้อย แล้วมีแต่พระของเราเดินทางมาสนับสนุนกันเอง ให้กำลังใจกันเอง วัดก็ไม่น่าจะอยู่ได้ อย่างที่มีการปรารภกันเมื่อไม่กี่วันนี้ว่า ขนาดเป็นวัดอยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร ยังไม่มีค่าไฟที่จะจ่ายให้กับการไฟฟ้า เนื่องเพราะว่าไม่ได้บอกบุญ ไม่ได้เรี่ยไรโยม แล้ววัดก็มีแต่ช่วยชาวบ้านอย่างเดียว..!

    ปัญหาพวกนี้ ถ้าหากว่าพระภิกษุสามเณรของเราอยู่ในกรอบของพระธรรมวินัย ปฏิบัติอยู่ใน ศีล สมาธิ ปัญญา ให้ญาติโยมทั้งหลายได้เห็นเป็นปกติ ก็จะสร้างศรัทธาให้ญาติโยมอยากจะเข้าวัด แต่ถ้าหากว่า "ฉันเช้าแล้วเอน ฉันเพลแล้วนอน ตอนบ่ายพักผ่อน ตอนค่ำจำวัด" จะให้โยมเข้าวัด ย่อมเป็นไปไม่ได้

    ถ้าหากว่าเป็นอย่างที่พระเถระรุ่นเก่า ๆ ท่านปรารภเอาไว้ ก็คือ "บริหารวัดให้ สะอาด สว่าง สงบ คนก็จะเข้าวัดเอง" แต่ว่าในสมัยนี้ ญาติโยมมีข้อเรียกร้องต่อวัดมากกว่านั้นหลายเท่า
    โดยเฉพาะญาติโยมจำนวนมากเข้าวัดไปเพื่อหาชุดเช็คอิน ถ่ายรูป แล้วก็ไปเลย..! พูดง่าย ๆ ว่าไม่มีจุดเช็คอินให้ก็ไม่เข้าวัด มีให้ก็แค่เข้าวัดไปถ่ายรูปเท่านั้น ไม่ได้คิดที่จะไปเอาศีลเอาธรรม เอาบุญอะไรจากในวัดติดตัวไปเลย กระทั่งบุญกุศลต่าง ๆ ที่จะพึงทำก็ไม่ได้คิดที่จะทำ ขอให้มีรูปเป็นที่ระลึกเท่านั้น..!

    ในเมื่อเป็นเช่นนั้น ปัญหาใหญ่ของคณะสงฆ์ของเรา แล้วพระเถระระดับเจ้าคณะปกครองท่านมองเห็น เราถึงต้องมีโครงการหน่วยอบรมประชาชนประจำตำบล โครงการสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัด โครงการหมู่บ้านรักษาศีล ๕ โครงการ วัด ประชา รัฐ สร้างสุข ด้วยหลัก ๕ ส. พูดง่าย ๆ ว่าอยู่ยากขึ้นไปทุกวัน..!

    เนื่องเพราะว่าญาติโยมในปัจจุบันนั้นมักจะแยกไม่ออก ไม่ทราบเหมือนกันว่าปัญญาน้อย หรือว่าตั้งใจแกล้งโง่..! ก็คือ
    แยกไม่ออกว่าระหว่างพระภิกษุสามเณรที่เป็นปุถุชน กับพระภิกษุสามเณรที่เป็นพระอริยเจ้านั้นเป็นอย่างไร ? ก็เลยมักจะเรียกร้องให้พระภิกษุสามเณรปุถุชนของเรา เป็นพระอรหันต์กันเสียหมด..!

    พูดง่าย ๆ ก็คือทำอะไรจะผิดเล็กน้อยแค่ไหนก็ตาม กูด่าเอาไว้ก่อน แบบเดียวกับที่พระเดชพระคุณหลวงพ่อเจ้าคุณแย้ม - พระธรรมวชิรานุวัตร, ดร. (แย้ม กิตฺตินฺธโร) เจ้าคณะภาค ๑๔ ท่านปรารภกับ
    กระผม/อาตมภาพในวันก่อนว่า "แกมีเหตุผลดีแค่ไหน พูดไปมันก็ไม่ฟังหรอก มันด่าเอาไว้ก่อน..!"

    ถ้าเราแยกออกก็จะรู้ว่า ภิกษุปุถุชนหรือว่าสามเณรปุถุชนของเรา ต้องมีการทำผิดทำพลาดเป็นปกติ ส่วนท่านที่ตั้งใจประพฤติปฏิบัติขัดเกลาตนเองจริง ๆ เพื่อที่จะเข้าถึงความหลุดพ้น ปัจจุบันนี้ก็มีน้อยมาก เพราะว่าญาติโยมตั้งข้อเรียกร้องกับพระภิกษุสามเณรมากเกินไป ก็คือต้องคุยภาษาเดียวกัน ต้องรู้เรื่องทางโลกให้เหมือน ๆ กัน ไม่อย่างนั้นแล้วคุยกันไม่รู้เรื่อง แต่พอศึกษาทางโลกมากเกินไป พระภิกษุสามเณรของเราที่เป็นปุถุชนเสียส่วนมาก ก็มักจะรั้งตัวเองไม่อยู่ ถ้าไม่เตลิดเปิดเปิงตามกระแสโลก จนเสียผู้เสียคน ขาดสมณสารูปของนักบวช ก็มักจะสึกหาลาเพศไปเลย..!
     
  4. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    20,072
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,592
    ค่าพลัง:
    +26,437
    นี่เป็นข้อสังเกตที่กระผม/อาตมภาพมีต่อสังคมพุทธในปัจจุบันของเรา ก็คือพุทธศาสนิกชนหรือว่าประชาชน แยกไม่ออกว่าพระภิกษุสามเณรปุถุชนกับพระอริยเจ้าต่างกันอย่างไร ? มักจะต้องการความเคร่งครัด บางทีก็สุดโต่งไปเลย อย่างชนิดที่เรียกว่านั่งนิ่ง ๆ เป็นตอไม้ได้ก็ยิ่งดี เอามาเรียกร้องกับพระภิกษุสามเณรของเรา ต้องบอกว่าญาติโยมรู้มากขึ้นทุกวัน แต่ความรู้นั้นไม่ใช่ความรู้ที่แท้จริง รู้แล้วไม่ได้ช่วยให้กิเลสน้อยลง หากแต่เอากิเลสในใจของตนเองไปเรียกร้องจากพระภิกษุสามเณรมากขึ้น..!

    จึงเป็นเรื่องที่เราท่านทั้งหลายต้องพยายามฝึกหัดขัดเกลาตัวเองให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ พูดง่าย ๆ ว่าไม่ได้เต็มที่อย่างที่เขาเรียกร้องก็ต้องให้ได้มากที่สุด ไม่อย่างนั้นแล้วในสังคมปัจจุบันของเราจะมีแต่คนหันหลังเข้าวัด ที่หันหน้าเข้าวัดจะมีน้อยลงไปทุกที..!

    แบบเดียวกับที่พวกท่านทั้งหลายเห็นว่า ทุกคนอยากจะมีพระภิกษุสามเณรที่เคร่งครัดต่อพระธรรมวินัย แล้วญาติโยมของอำเภอทองผาภูมิเป็นอย่างไร ? ทุกคนรักและเคารพหลวงปู่สาย อดีตเจ้าอาวาสวัดท่าขนุนเป็นที่สุด แต่ถึงเวลาแห่ลูกมากราบขอขมาหลวงปู่แล้วแห่ไปบวชวัดอื่น..! โดยที่บอกว่า
    "วัดท่าขนุนเคร่งครัดเกินไป เดี๋ยวลูกหลานจะลำบาก..!"

    ความประพฤติของญาติโยมถือว่าย้อนแย้งกันเอง ต้องการพระภิกษุสามเณรที่เคร่งครัดต่อพระธรรมวินัย สวดมนต์ ทำวัตร บิณฑบาต เจริญกรรมฐาน แต่ไม่ยอมให้ลูกตัวเองบวชที่วัดท่าขนุน เพราะว่ากลัวลูกจะลำบาก..! พูดง่าย ๆ ว่าพวกท่านทั้งหลายที่มาอยู่กันจนกระทั่งเบื่อหน้ากันแล้ว เพราะว่ารู้สึกว่าจะอยู่กันมากเกินไป มีสักกี่คนที่เป็นคนทองผาภูมิ ? ถ้าจะนับกันจริง ๆ นี่แทบจะหาไม่ได้เลย แม้กระทั่งเจ้าอาวาสก็ยังไม่ใช่..!

    จึงเป็นเรื่องที่พวกเราเอง อย่างไรเสียก็ต้องพยายามที่จะรักษาตัวเอง รักษาชื่อเสียงของครูบาอาจารย์ รักษาชื่อเสียงของวัดวาอาราม และท้ายที่สุดรักษาพระพุทธศาสนาของเราเอาไว้ให้ได้ ด้วยการเคร่งครัดและเข้มงวดต่อตนเอง ต่อให้ทำได้ไม่ถึงที่สุด ก็ต้องทำให้ได้มากที่สุด จะได้ช่วยกันค้ำจุนพระพุทธศาสนา ให้อยู่รอดกันต่อไปในโลกยุคปัจจุบันนี้..!

    สำหรับวันนี้ก็ขอเรียนถวายพระภิกษุสามเณรของเรา และบอกกล่าวแก่ญาติโยมแต่เพียงเท่านี้

    พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
    เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน
    วันอังคารที่ ๒๖ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๖๗
    (ถอดจากเสียงเป็นอักษร โดย เผือกน้อย)
     
สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้

แชร์หน้านี้

Loading...